การปลูกปูเล่ Petit kale (คะน้าเด็ดยอด) ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้หลายปี
ปูเล่ หรือ คะน้าเด็ดยอด เป็นผักกินใบชนิดหนึ่งที่มีคุณลักษณะเด่น เป็นพืชตระกูลกะหล่ำ มีอายุการให้ผลผลิตยอดอ่อนต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยแตกยอดขนาดเล็กจำนวนมากคล้ายยอดอ่อนคะน้า นำไปประกอบอาหารได้เหมือนกับผักคะน้าทุกเมนู และยังสามารถทานใบสดได้
โดยปูเล่นิยมปลูกในกระถางและภาชนะอื่นๆ อายุยืนไม่ต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากปูเล่มีอายุเก็บเกี่ยวได้นานเป็นปีๆ ต่างจากผักทั่วๆ ไปที่มีอายุขัยสั้น และหากบำรุงรักษาอย่างดี จะทำให้ปูเล่เป็นทั้งพืชที่ใช้บริโภคและเป็นไม้ประดับเพื่อตกแต่งบ้าน ตกแต่งสวนได้
สภาพพื้นที่
– เป็นแปลงดินสำหรับการเพาะปลูก แต่ถ้าปลูกในกระถางได้จะเหมาะกว่า
ลักษณะดิน
– ดินที่มีปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมกับดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี
สภาพภูมิอากาศ
– เป็นพืชที่มีความทนทาน ตลอดหน้าฝน หน้าหนาว และฤดูร้อน เจริญเติบโตได้ดีกับทุกท้องที่
การเตรียมดิน
– ควรเป็นดินที่เป็นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยผสมเข้ากับดินร่วน
ฤดูที่เหมาะกับการปลูกปูเล่
– สามารถปลูกและเจริญได้ดีในทุกฤดูกาล
สายพันธุ์ปูเล่ยอดนิยมปลูก
ด้วยธรรมชาติของต้นปูเล่ที่เพาะปลูกและดูแลง่าย แถมยังมีประโยชน์หลายอย่าง จึงทำให้ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมีดังนี้

– ปูเล่โอซาก้า : เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น มีให้เลือกหลายเฉดสี ทั้งแบบที่เป็นสีล้วนและแบบคละรวมกันหลายสีในต้นเดียว ลักษณะใบก็มีทั้งแบบขอบเรียบและขอบหยัก
– ปูเล่คาโมเม่ : เป็นสายพันธุ์จากจีนและญี่ปุ่น มักปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ตกแต่งจานมากกว่ารับประทาน ใบจะมีความหยักมากเป็นพิเศษ ชั้นใบเรียงชิดกันหนาแน่น และใบชั้นนอกกับใบชั้นในมักจะเป็นคนละสีกัน
– ปูเล่ฝรั่ง : แม้จะมีแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ แต่ลักษณะโดยรวมของปูเล่กลุ่มนี้จะคล้ายคลึงกันหมด คือมีใบใหญ่สีเขียว ชั้นใบห่าง ยิ่งปลูกไว้นานต้นยิ่งยืดสูงขึ้น รสชาติคล้ายกับคะน้า
– ปูเล่พันธุ์พื้นเมือง : พันธุ์พื้นเมืองจะมี 2 แบบ ดังนี้
1. ปูเล่ใบใหญ่ ลักษณะใบใหญ่ ทรงพุ่มคล้ายดอกกุหลาบ โครงสร้างสวยงาม ห่อหัวได้เหมือนกะหล่ำปลี สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ และบริโภคได้
2. ปูเล่ใบเล็ก ลักษณะใบเล็กกว่าแบบแรก ต้นไม่เป็นทรงพุ่ม ใบซ้อนกัน ไม่ห่อหัว แต่เจริญเติบโตเร็วมาก
อย่างไรก็ตาม ปูเล่ทั้ง 2 แบบนี้สามารถนำมารับประทานได้ มีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกัน แตกต่างเพียงแค่ลักษณะของต้น ขนาดใบ ทรงพุ่ม และการเจริญเติบโตช้า-ไวเท่านั้น
วิธีการปลูกปูเล่
– เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อย ให้กดดินรอบโคนให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น วางไว้ในที่แจ้ง เนื่องจากปูเล่เป็นพืชที่ชอบแดด
– เติมดินผสม เพื่อกลบโคนต้นเป็นระยะทุก 2 อาทิตย์
เทคนิคการปลูกปูเล่ในกระถาง : เมื่อปลูกปูเล่ใส่กระถาง ควรนำกระถางให้ได้รับแสงแดดบ้าง อาจรับแสงแดดเพียงครึ่งวันก็พอ จึงควรวางไว้ที่ระเบียงบ้าน รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้น – เย็น
ผักคะน้าเด็ดยอดเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะดินร่วนระบายน้ำได้ดี แสงแดดส่องถึง นํ้าไม่ท่วมขัง การปลูกเป็นแปลง ผักจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกลงกระถาง เนื่องจากระบบรากสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่า
การให้ปุ๋ย
แนะนำให้เสริมธาตุอาหาร ด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ระยะเวลาประมาณ 20 วัน ต่อครั้ง อัตรา 1 ช้อนชา ต่อนํ้า 10 ลิตร
การให้น้ำ
ฤดูฝน มีความชื้นสูง ผักอาจเหี่ยวและเน่าเสียหาย ไม่ต้องรดนํ้าทุกวัน ช่วงฤดูร้อน หากให้นํ้าน้อยไป ยอดคะน้าจะเหนียว จึงต้องหมั่นสังเกตการเติบโตของพืช และให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
หากมีเวลาเพียงวันละ 2-3 นาทีในการรดน้ำ และตรวจดูสภาพความชื้น ดูหนอนที่อาจมารบกวนบ้างก็พอแล้ว
การกำจัดวัชพืช
ให้ใช้มือทำลายก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี
แมลงศัตรูพืชที่สําคัญ ของปูเล่
ศัตรูพืช ของปูเล่ ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หากเจอน้อยให้เก็บตัวหนอนทำลายทิ้ง หากพบการระบาดมากให้ใช้สารจุลินทรีย์ บาซิลลัสทูริงเยนซีส ฉีดพ่น สามารถกําจัดหนอนได้ดีมาก แมลงอีกชนิดที่พบบ่อยคือ เพลี้ยอ่อน สามารถกําจัดโดยฉีดพ่นน้ำแรงๆ หรือใช้ใบยาสูบตากแห้ง (ที่มวนบุหรี่) แช่นํ้าแล้วฉีดพ่นเป็นละอองฝอยๆ
โรคที่สำคัญ ของปูเล่
โรคพืชที่พบบ่อยคือ อาการโรคเน่า เมื่อเจอความชื้นมากเกินไป วิธีแก้ไขคือ ตกแต่งใบแก่ ใบแห้ง ให้แปลงปลูกโปร่ง ไม่แน่นทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดปริมาณนํ้าในแต่ละวันลง เพื่อให้ความชื้นในแปลงปลูกลดลง
การเก็บเกี่ยว
ผู้ปลูกสามารถเก็บผักปูเล่ได้ โดยเด็ดใบล่างขั้นไปเรื่อยๆ และควรเหลือใบบนไว้กับต้นบ้าง เพื่อให้ใบส่วนที่เหลือสามารถสังเคราะห์แสงเพื่อการเจริญเติบโต ไม่ควรเก็บใบออกมากไป เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตชะงักและขนาดขอบใบจะเล็กลง
หลังการเด็ดยอดคะน้าไปบริโภคแล้ว จะเกิดยอดคะน้าใหม่ ประมาณ 2-3 ยอด ต่อการเด็ด 1 ยอด เมื่อยอดชุดใหม่อายุ 25-30 วัน ก็สามารถเด็ดไปบริโภคได้อีก เมื่อเด็ดยอดอ่อนไปบริโภคอย่างสม่ำเสมอ ยอดใหม่ก็จะทยอยเกิดตามไปเรื่อยๆ
ตลาด
ตลาดในปัจจุบัน ปูเล่นับว่าเป็นพืชชนิดใหม่ที่ปลอดภัยจากสารพิษ และสามารถปลูกเองไเ้ในครัวเรือน ดังนั้น จึงยังไม่มีผู้ปลูกเพื่อตัดใบไปขายในเชิงการค้า
ผลตอบแทน
หากใครที่สนใจสามารถทำตลาดล่วงหน้ากับซุปเปอร์มาร์เก็ตและจัดการให้มีภาชนะบรรจุให้เหมาะสมกับสภาพของผลผลิต รวมถึงการกำหนดราคาในการขายได้จากผู้ผลิต ทั้งนี้ ต้นทุนและผลตอบแทนขึ้นกับปริมาณการผลิต และความต้องการของตลาด