การป้องกัน แก้ไขโรค และแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก (ผักเคล)

การป้องกัน แก้ไขโรค และแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก (ผักเคล)

การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก เป็นขั้นตอนที่ต้องปลอดสารเคมี เพื่อผลกำไรจากการจำหน่ายในประเทศ และส่งออก และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหา โรคและแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก

คะน้าใบหยิก เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับคะน้าทั่วไป ดังนั้น โรคและแมลงศัตรูของคะน้าใบหยิก จึงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่ถ้าเกษตรกรเลือกปลูกคะน้าใบหยิกในโรงเรือน การจัดการดูแลรักษาหลังการปลูกก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โอกาสเกิดโรคและแมลงศัตรูมารบกวนก็แทบจะไม่มี ซึ่งก่อนที่เกษตรกรจะตัดสินใจปลูกคะน้าใบหยิกนี้ ควรตัดสินใจด้วยว่า จะทำการเพาะปลูกในลักษณะไหน ที่เหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ ในการปลูกคะน้าใบหยิก

โรคและศัตรูคะน้าใบหยิก

โรคคะน้าใบหยิก
โรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อสภาพอากาศมีความชื้น เชื้อราจะขึ้นกระจายเต็มใบ ใบเหลือง และร่วงหรือแห้ง ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้งและแผลแห้งเป็นสีเทาดำ โรคนี้ระบาดได้ทั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งจะทำความเสียหายมากเพราะทำให้ใบเสียมากและเจริญเติบโตช้า โรคนี้ไม่ทำให้ต้นคะน้าใบหยิกตาย แต่ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง ทำให้ได้น้ำหนักน้อยลง


การป้องกันและแก้ไข
– แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที

– เมื่อพบอาการในลักษณะดังกล่าวให้ใช้ปูนขาวในการยับยั้งเชื้อราโดยใช้ปูนขาว 1 กำมือผสมน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันทิ้งไว้ประมาณ 10 ถึง 15 นาที แล้วเอาเฉพาะน้ำปูนใส 20 ลิตรผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 ถึง 15 วัน ต่อครั้ง เพื่อเป็นการป้องกัน

– หากมีการระบาด ให้กำจัดโดยใช้วิธีพ่นติดต่อกัน 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วอาการดังกล่าวจะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายในวงกว้างได้

– เก็บเศษซากพืชออกจากแปลง และทำลายให้หมด

โรคกล้าเน่า
มีสาเหตุจากเชื้อรา ลักษณะอาการ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ระยะก่อนงอก เมล็ดเน่าก่อนงอก หรืองอกออกมาเล็กน้อยแล้วเน่าตาย ก่อนที่จะโผล่พ้นดินขึ้นมา และระยะหลังงอก ต้นกล้าที่งอกพ้นดินขึ้นมาแล้ว มีแผลที่โคนต้น ต้นหักพับที่ระดับผิวดิน หรือเกิดการเหี่ยวเฉาตาย เชื้อสาเหตุอาจปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่ในดินบริเวณที่ปลูกมักเกิดการระบาด เมื่อความชื้นในดินสูง

การป้องกันและแก้ไข
– เตรียมแปลงเพาะโดยย่อยดินให้ละเอียด ปรับดินด้วยปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่

– แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที


– ไม่ควรเพาะกล้าแน่นเกินไป

– ไม่ควรรดน้ำในแปลงกล้ามากเกินไป แปลงกล้าควรมีการระบายน้ำได้ดี

– หากพบการระบาด หรือเกิดอาการของโรค ให้กำจัดด้วยวิธีเดียวกันกับโรคราน้ำค้าง

โรคใบจุด
มีสาเหตุจากเชื้อรา มีอาการเริ่มจาก เกิดจุดเล็กๆ บนต้นกล้าที่งอกใหม่ กล้าเน่าตายในระยะต้นโต อาการที่ใบเริ่มจากเกิดเป็นจุดเล็กๆ ต่อมาแผลขยายออกเป็นวงกลมสีน้ำตาลหรือดำซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อมีการระบาดมากขึ้น แผลเหล่านี้ขยายมาติดกัน เนื้อใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบแห้งกรอบ และมักระบาดเมื่อมีความชื้นในอากาศสูงเช่นกัน

การป้องกันและแก้ไข
แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที หากพบการระบาด หรือเกิดอาการของโรค ให้กำจัดด้วยวิธีเดียวกันกับโรคราน้ำค้าง

โรคใบแห้งหรือโรคเน่าดำ
มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย อาการเริ่มแรกส่วนใหญ่จะเกิดที่ขอบใบโดยเนื้อใบตรงส่วนที่เชื้อเข้าทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และลุกลามเข้าไปส่วนกลางของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมอยู่ที่เส้นกลางใบ บางครั้งอาการอาจเริ่มแสดงที่ปากใบพืชทำให้เกินปื้นเหลืองบนใบ เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะค่อยๆ ตาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เชื้อสาเหตุสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์และสามารถมีชีวิตอยู่บนเศษซากพืชในดินได้นาน มักเกิดการระบาดในช่วงมีความชื้นสูง


การป้องกันและแก้ไข
– แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที

– เก็บเศษซากพืชเป็นโรคออกจากแปลง และทำลายให้หมด โดยขุดต้นที่เป็นโรคไปเผาทิ้ง

***เชื้อสาเหตุของโรคนี้สามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืชที่เป็นโรคไว้ นาน ดังนั้นจึงควรปลูกพืชหมุนเวียนเป็นเวลา 2 ปี***

***ไม่ควรใช้สารเคมีในการควบคุมโรคเนื่องจากใช้ไม่ได้ผล***

การใข้สารชีวภาพกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรีย
เป็นสารชีวภาพสกัดเข้มข้น จากจุลินทรีย์ธรรมชาติ เช่น บาซิลลัส แอซิด สเตรปโตคอกคัส เปสิโอค็อกคัส และผ่านการรับรองผลจากนักวิชาการเกษตร หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรืออุปกรณ์การเกษตร ใช้ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย เช่น ราสนิม ราน้ำค้าง เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า ใบแห้ง ของไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ผล พืชผักทั่วไป และยับยั้งแบคทีเรียได้ดี

วิธีใช้และอัตราการใช้
สารสกัดชีวภาพ 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ (5 ถึง 10 ซีซี) ผสมน้ำ 1ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นและใบ หรือผสมน้ำรดให้ทั่วบริเวณราก ใช้ทาแผลเน่า ทุก 4 ถึง 7 วัน จนกว่าจะหายจากโรค

——————–
แมลงศัตรูคะน้าใบหยิก

หนอนใยผัก

หนอนใยผัก
หนอนมีลำตัวยาวเรียวหัวท้ายแหลมส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก สีเขียวอ่อน เทาอ่อน หรือเขียวปนเหลือง เมื่อถูกตัวจะดิ้นและทิ้งตัวลงดินโดยการชักใย หนอนเข้าดักแด้ตามใบพืชโดยมีใยปกคลุมหนอนใยผักกัดกินใบและยอดผัก ตั้งแต่เริ่มงอกจนถึงระยะ เก็บเกี่ยว พบการทำลายตามแหล่งปลูกผักคะน้าเป็นการค้าทั่วไป มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อน และฤดูหนาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งปลูกภาคกลาง

การป้องกันและแก้ไข
– ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง อัตรา 80 กับดักต่อไร่ ตลอดฤดูปลูก เพื่อการพยากรณ์และกำจัดตัวเต็มวัย

– เก็บเศษใบผักคะน้าทำลาย เพื่อกำจัดหนอนและดักแด้

ด้วงหมัดผัก

ด้วงหมัดผัก
หนอนกัดกินโคนต้น หรือรากของผัก ทำให้ผักเหี่ยว ไม่เจริญเติบโตและตาย ตัวเต็มวัยอยู่รวมกับเป็นกลุ่ม กัดกินผิวใบด้านล่าง ทำให้เป็นรูพรุน เมื่อถูกรบกวนสามารถกระโดด และบินได้ไกล ระบาดได้ตลอดฤดูปลูก ในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งปลูกผักทั่วไป

การป้องกันและแก้ไข
– ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง อัตรา 80 กับดักต่อไร่ตลอดฤดูปลูก เพื่อการพยากรณ์และกำจัดตัวเต็มวัย

– ไถพรวนตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดหนอนและดักแด้

หนอนกระทู้หอม

หนอนกระทู้หอม
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน วางไข่เป็นกลุ่มสีขาวมีขนปกคลุมตามใต้ใบพืช หนอนกัดกินใบอ่อนและยอดผัก หนอนวัยที่ 3 ขึ้นไป จะกัดกินทุกส่วนของพืชทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง พบการทำลายตามแหล่งปลูกผักคะน้าทั่วไปเมื่อหนอนโตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดิน มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อน

การป้องกันและแก้ไข
– เก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนทำลาย

หนอนกระทู้ผัก

หนอนกระทู้ผัก
ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นกลุ่มใหญ่สีน้ำตาล คล้ายกับฟางข้าวใต้ใบผัก หนอนวัยแรกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแทะกินผิวใบ หนอนวัยต่อมาเคลื่อนย้ายกัดกินใบ ยอดและทุกส่วนของพืช ทำความเสียหายให้กับผักคะน้าได้มาก เนื่องจากเป็นหนอนขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก หนอนเข้าดักแด้ในดิน ระบาดตลอดฤดูปลูก

การป้องกันและแก้ไข
– ไถพรวนตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดดักแด้
– เก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลาย

หนอนเจาะยอดกะหล่ำ

หนอนเจาะยอดกะหล่ำ
ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นผีเสื้อขนาดเล็ก วางไข่เป็นฟองเดี่ยว มีสีขาวนวลตามยอดพืช ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินตามส่วนของยอดและจะถักใยคลุมตัว ขณะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในยอดและลำต้นพืช สังเกตจากรอยกินเป็นทางหรือมูลหนอนที่ถ่ายทิ้งไว้ เข้าดักแด้ ตามเศษพืชบนดิน หรือในดินโดยมีใยห่อหุ้ม พบการทำลายตามแหล่งปลูกผักคะน้าทั่วไป มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อน

การป้องกันและแก้ไข
– ไถพรวนตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดดักแด้
– เก็บเศษใบผักทำลายเพื่อกำจัดดักแด้

การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน มี 2 ชนิด คือ

1. แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา มีขนาดลำตัวประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำลายไข่ของหนอนใยผัก ไข่ที่ถูกแตนเบียนไข่เข้าทำลายจะเป็นสีดำและไม่ฟัก


2. แตนเบียนหนอนโคทีเซีย ตัวเต็มวัยสีดำ ขนาดเล็ก 1-2 มิลลิเมตร มีปีก วางไข่ในลำตัวของหนอนใยผัก และจะอาศัยดูดกินอยู่ภายในประมาณ 7 วัน จึงออกมาสร้างรังเข้าดักแด้บนตัวหนอน ดักแด้สีขาวมีขนาด 3-4 มิลลิเมตร ทำให้หนอนศัตรูผักคะน้าไม่กินอาหารและตาย

แตนเบียน กำจัดหนอน

ตัวห้ำ มี 2 ชนิด คือ
1. มวนพิฆาต วางไข่เป็นกลุ่มสีทองแดง ตัวอ่อนวัยแรกสีดำ วัยต่อมาสีดำแต้มแดง ตัวเต็มวัยสีน้ำตาล บ่ามีหนามแหลมข้างละอัน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินหนอนศัตรูผักคะน้า

2. แมงมุม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินไข่และหนอนวัยแรกของศัตรูผักคะน้า ศัตรูธรรมชาติทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ดังนั้น ในการป้องกันกำจัด ศัตรูผักคะน้า ควรใช้วิธีการที่ปลอดภัยตามคำแนะนำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ

สมุนไพรที่กำจัดแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก
สะเดา ข่า ตะไคร้หอม บอระเพ็ด หางไหล ใบมะรุม ฟ้าทะลายโจร ใบฝรั่ง เปลือกมังคุด เปลือกแค สายเสือ พริกขี้หนู ยาสูบ หนอนตายหยาก ใบน้อยหน่า หนุมานผสานกาย และสมุนไพรอีกหายชนิดโดยเฉพาะที่มีกลิ่นฉุน


วิธีทำน้ำสมุนไพรกำจัดเพลี้ย หนอนและแมลง
– นำสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการไล่แมลงหรือมีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ดร้อน มาสับและบดให้ละเอียด

– ใส่ถังที่มีฝาปิด พร้อมกับนำเหล้าขาว 1 ขวด มาผสมกับน้ำส้มสายชู ครึ่งขวดใหญ่, กากน้ำตาล 1 ลิตร และหัวเชื้อจุลินทรีย์อีก 1 ลิตร ผสมให้เข้ากัน

– หมักไว้ 1 เดือน นำแต่น้ำหมักสมุนไพรไปใช้อย่างเดียว

วิธีใช้
น้ำหมักสมุนไพร 3 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นหรือราดทุก ๆ3 วัน หรือถ้ามีการระบาดควรที่จะฉีดพ่นทุกวัน จนกว่าการระบาดของแมลงจะหมดไป

การปลูกคะน้าใบหยิก (ผักเคล Kale) และประโยชน์

การดูแลคะน้าใบหยิก (ผักเคล) หลังการปลูก

แหล่งข้อมูล : www.maingamkasetthai.com, www.papamami.com, www.gotoknow.org, actech.agritech.doae.go.th

Top