การปลูกคะน้าใบหยิก (ผักเคล Kale) และประโยชน์
คะน้าใบหยิก เป็นผักในตระกูลเดียวกับ คะน้า กะหล่ำ และบร็อคคอรี่ แตกต่างกันที่ คุณค่าทางอาหาร คะน้าใบหยิก ได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชินีแห่งผัก หรือ Queen of Green เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงที่สุดในโลก ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอังกฤษ เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย ที่พบเห็นทั่วไปจะมีใบสีเขียว สีม่วง หรือสีม่วงแดง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ขอบใบจะหยิกฝอย ต่างจากคะน้าทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด นิยมนำมาทำอาหารประเภทผัด หรือต้มจับฉ่าย มีผลผลิตตลอดทั้งปี
การปลูกคะน้าใบหยิก
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ในการปลูกคะน้าใบหยิก
สภาพอากาศ
***การปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็นหรือมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้การเจริญเติบโตช้า ลำต้นและใบอวบใหญ่กว่าปกติ ข้อถี่***
*** การปลูกในสภาพอากาศร้อนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส คุณภาพผลผลิตต่ำ เยื่อใยสูง เหนียว จำเป็นต้องให้น้ำมากกว่าปกติ***
– อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการปลูกอยู่ระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
– สำหรับพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 – 800 เมตร สามารถปลูกได้คุณภาพดีในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
– ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ หรือ ไม่มีสารปนเปื้อนในดินของพื้นที่เพาะปลูก
– ใกล้แหล่งน้ำสะอาดและสะดวกต่อการนำมาใช้
– เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง
– ใกล้แหล่งรับซื้อ และมีการคมนาคมสะดวก สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว
ลักษณะดิน
– ควรร่วนซุย หรือเป็นดินร่วนปนทราย
– มีความอุดมสมบูรณ์สูง (ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก)
– ดินมีการระบายน้ำดี
– ค่าความเป็นกรด – ด่างดินควรอยู่ระหว่าง 6.0 ถึง 6.8
***หากดินที่ปลูกมีความเป็นกรดสูง ควรปรับด้วยปูนขาวหรือโดโลไมด์
– ดินปลูกควรมีความชื้นสูงประมาณ 80 เปอร์เซนต์
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก
ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี
ระบบน้ำ
– มีแหล่งน้ำสะอาดปราศจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน และเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูปลูก
– ใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์แบบหัวพ่นฝอย
สายพันธุ์
– เลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ
– เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในพื้นที่ที่ปลูก
– มีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี
คะน้าใบหยิกสีเขียว
– มีอายุการเก็บเกี่ยว 50 ถึง 60 วัน
– อุณหภูมิในการเพาะเมล็ด 28 ถึง 33 องศาเซลเซียส
– อุณหภูมิในการปลูก 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
คะน้าใบหยิกสีม่วง หรือสีม่วงแดง
– มีอายุการเก็บเกี่ยว 70 ถึง 80 วัน
– อุณหภูมิในการเพาะเมล็ด 28 ถึง 33 องศาเซลเซียส
– อุณหภูมิในการปลูก 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
คำแนะนำ
– ควรปลูกในโรงเรือน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง, ลดต้นทุนในการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งสารเคมีในการกำจัดวัชพืช และดูแลง่าย ประหยัดเวลาและแรงงานในการดูแล
– คะน้าใบหยิก สามารถปลูกได้ทั้งปี ด้วยเทคนิคการพรางแสง และเพิ่มปริมาณการให้น้ำ
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
แช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกในน้ำอุ่นประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที
การเตรียมกล้าคะน้าใบหยิก มี 2 วิธี
วิธีที่ 1
การเพาะเมล็ดในกระบะ
– ผสม ทราย 2 ส่วน : ขุยมะพร้าว 1 ส่วน : หน้าดิน 1 ส่วน หรือ ขุยมะพร้าว 3 ส่วน : แกลบ 1 ส่วน
– หยอดเมล็ดลงในกระบะเพาะกล้าโดยตรง
– เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 5 วัน ย้ายลงถาดหลุมที่ใช้วัสดุเพาะ
– เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 – 21 วัน หรือมีใบจริงอย่างน้อย 2 – 3 ใบ จึงทำการย้ายปลูก
วิธีที่ 2
การเตรียมแปลงเพาะ
แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตรส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า
– ควรขุดไถพรวนดินให้ดี ตากดินไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน
– ย่อยหน้าดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
การเพาะ
– หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง
– กลบเมล็ดด้วยดิน หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนาประมาณ 0.6 ถึง 1 เซนติเมตร
– คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ หรือหัวรดน้ำที่เป็นฝอยละเอียด
การดูแลต้นกล้า
– ภายใน 7 วัน ต้นกล้าจะงอก ดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป
– ดูแลป้องกันโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้น
– เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25 ถึง 30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป
การเตรียมดิน
– ขุดดินลึก 10 – 15 เซนติเมตร ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7 ถึง 14 วัน
– โรยปูนขาว หรือ โดโลไมท์อัตรา 10 ถึง 100 กรัม ต่อตารางเมตร
– ขึ้นแปลงกว้าง 1 ถึง 1.20 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
– ใส่ปุ๋ยรองพื้นปุ๋ยคอก (มูลไก่) หรือปุ๋ยหมักอัตรา 3 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร หรือในปริมาณที่มากกว่านี้ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
การปลูก
– นำต้นกล้าที่มีอายุ 18 – 21 วัน ไปปลูกลงในแปลงที่เตรียมดินไว้ ควรปลูกเป็นแถวเดียว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
ในกรณีที่ต้องการเก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส) เว้นระยะปลูกต่อต้น 30 x 30 เซนติเมตร, ฤดูฝนและหนาว 30 x 40 เซนติเมตร แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวครั้งเดียวควรใช้ระยะปลูก 25 x 25 เซนติเมตร
– รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ หรือหัวรดน้ำที่เป็นฝอยละเอียด
***หากต้องการประหยัดพื้นที่เพาะปลูก สามารถปลูกในภาชนะ เช่น กระถาง, วงบ่อซีเมนต์, ยางรถยนต์ หรือภาชนะเหลือใช้อื่นๆ ที่มีรูระบายน้ำ*** ติดตามการให้น้ำ ให้ปุ๋ย และอื่นๆ ในบทความ การดูแลคะน้าใบหยิก หลังการปลูก นะคะ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพรวมถึง บทความ การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก
ประโยชน์ของ คะน้าใบหยิกสีเขียว
– เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
– ชะลอความแก่
– ลดภาวะเป็นพิษและเสริมสร้างคอลลาเจนให้แก่ร่างกาย เนื่องจากมี เบต้าแคโรทีน และโปรตีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก
– มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่สำคัญที่สุดคือ มีใยอาหารสูงมาก ช่วยในการย่อยและดูดซับสารอาหาร และสารเคมีต่างๆ ทำให้ระดับคอเรสเตอรอล และไขมันในเส้นเลือดลดลง
– มีวิตามิน บี2 และแร่ธาตุหลายชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมสมดุลกรดเบสในกระแสเลือด
– มีแคลเซียมสูงกว่านม เสริมสร้างกระดูก และฟัน ให้แข็งแรง แต่ไม่เพิ่มน้ำหนักตัว
– แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ที่มีอยู่ในผักตระกูลนี้ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– มีสาร Sulforaphane ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็ง
– มีธาตุเหล็กสูงมาก ธาตุเหล็กจะบำรุงเลือดและตับได้เป็นอย่างดี
– มีวิตามิน ซี สูงกว่าผักใบอื่นๆ และมีวิตามิน เอ ช่วยบำรุงสายตา ผิวพรรณ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคกระดูกบาง
– มีกรดไขมันโอเมก้า 3
– เป็นผักที่ Detox ตับได้เป็นอย่างดีเพราะมีไฟเบอร์และซัลเฟอร์
– มีวิตามิน เค สูงมาก ดีต่อเซลล์สมอง กระดูก และ ระบบเลือด
ประโยชน์ของ คะน้าใบหยิกสีม่วง
นอกจากคุณประโยชน์ของคะน้าใบหยิกที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สารอาหารที่พบในคะน้าใบหยิกสีม่วงที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ สารแอนโทไซยานิน ซึ่งโดยปกติแล้ว จะพบมากในผักและผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ให้คุณประโยชน์ดังนี้
– ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
– ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยังยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน
– ชะลอความเสื่อมของดวงตา
– ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
การนำคะน้าใบหยิกมาใช้ประโยชน์
– รับประทานสด หรือรับประทานแบบชุดสลัด
– นำมาประกอบอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น ผัดน้ำมันหอย, ต้มจับฉ่าย, สตู และ รับประทานเป็นผักเครื่องเคียง
– นำมาทำเป็นครีมพอกหน้า
– นำมาทำน้ำปั่นสมูตตี้
การดูแลคะน้าใบหยิก (ผักเคล) หลังการปลูก
การป้องกัน แก้ไขโรค และแมลงศัตรูคะน้าใบหยิก (ผักเคล)
แหล่งข้อมูล : http://hkm.hrdi.or.th, www.maamjourney.com, www.women.thaiza.com, www.maceducation.com, www.bighealthyplant.com