แนวทางการเลี้ยงเป็ดไข่ เพื่อเป็นอาชีพ
การเลี้ยงเป็ดไข่ จะนิยมเลี้ยงพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์กากีแคมเบลล์ เพราะเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศ และให้ไข่ดกประมาณ 250 – 260 ฟอง / ปี แต่มีข้อแนะนำคือ ควรหาซื้อพันธุ์จากฟาร์มที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และไม่เคยเกิดโรคระบาดมาก่อน
เทคนิคการเลี้ยงเป็ดไข่
การเตรียมโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด
ควรทำความสะอาด ปรับพื้นคอก และโรยด้วยปูนขาวพร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ต้องเป็นโรงเรือนที่กันแดด กันฝน มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนพื้นที่เป็นดินแข็งปนทราย ต้องแห้งอยู่เสมอ มีลานกว้าง เพื่อให้เป็ดได้วิ่งออกกำลังกายได้ และจัดที่ไว้ให้อาหารและน้ำ หรือ หากใครมีสถานที่อยู่ริมน้ำ ควรทำตาข่ายล้อมรอบกั้นเป็นเขต เพื่อให้เป็ดได้ออกหาอาหารตามธรรมชาติ
การให้อาหาร
ควรใช้หัวอาหารผสมกับปลายข้าวและรำข้าว เพราะมีโปรตีนสูงเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเป็ดไข่ คลุกเคล้าด้วยเครื่องผสมอาหาร ให้วันละ 3 ครั้ง เช้า – เที่ยง – เย็น ซึ่งโดยเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 150 กรัมต่อตัวต่อวัน และต้องทำความสะอาดที่ให้น้ำก่อนทุกครั้ง และต้องมีน้ำให้เป็ดกินตลอดเวลา
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเป็ด อาทิ โรคอหิวาต์เป็ด-ไก่ โรค Duck Plague และหมั่นดูแลสุขภาพของเป็ดอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อเป็ดได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ จะเริ่มออกไข่เมื่ออายุประมาณ 21 สัปดาห์ โดยจะออกไข่ตอนเช้ามืด ตามแอ่งหรือมุมต่าง ๆ ที่อยู่ในคอก
การเลี้ยงเป็ดไข่จะเก็บไข่ขายได้ในระยะยาว กำไรดี เพราะเป็ดสามารถไข่ได้นานถึง 2 ปี หลังจากปลดระวางแล้ว ก็ยังสามารถขายเป็นเป็ดเนื้อ เพื่อประกอบอาหารได้อีกด้วย
ผลตอบแทน
หากเลี้ยงเป็ดไข่ประมาณ 200 ตัวต่อรุ่น จะได้ไข่ประมาณ 48,000 – 60,000 ฟอง จำหน่ายฟองละ 2 บาท จะได้ผลตอบแทน 96,000 – 120,000 บาท เมื่อแม่เป็ดปลดระวางและนำไปขายเป็นเป็ดเนื้อ ในราคาตลาด 50 – 70 บาท จะได้มูลค่าประมาณ 9,000 – 15,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมเป็นสำคัญ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกเลี้ยงอย่างรอบคอบ
หากเกิดปัญหาเลี้ยงเป็ดไข่ที่ไม่ไข่ สามารถขายเป็นเป็ดเนื้อได้ ส่วนมูลเป็ดนำมาทำเป็นปุ๋ยและใช้เลี้ยงปลา โดยไม่ต้องเปลืองค่าอาหารเป็นการเพิ่มรายได้ในทางอ้อม หากใครที่ อยากทำอย่างจริงจัง ควรหาพื้นที่เลี้ยงเป็ดที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ห่างไกลจากชุมชน การคมนาคมสะดวก และต้องมีตลาดรับซื้อไข่เป็ดที่น่าเชื่อถือ และระยะยาว และควรศึกษาหาความรู้ในการแปรรูปไข่เป็ดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มมูลค่าในกรณีที่มีปัญหาด้านราคาและการตลาด