(คลิป) มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ (ครั่งเนื้อเหลือง) : วีดีโอ เกษตร
- Genres:กสิกรรม(พืช), วีดีโอทั้งหมด
(คลิป) มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ (ครั่งเนื้อเหลือง) : วีดีโอ เกษตร
มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ(ครั่งเนื้อเหลือง)
“ศรีราชภัฏ” มะละกอพันธุ์ใหม่ ลูกดก ผลยาว เนื้อขาว ต้านโรค
“มะละกอ” นอกจากการบริโภคผลสุกและการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแล้ว ยังเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภคผลดิบ โดยเฉพาะเมนูส้มตำที่ถือว่าเป็นอาหารประจำชาติอีกอย่างหนึ่งของไทย ทำให้มะละกอเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมากและมีราคาค่อนข้างดีอย่างต่อเนื่อง ทว่าปัญหาสำคัญของการปลูกมะละกอ คือ “ไวรัสจุดวงแหวน” ที่มักระบาดสร้างความเสียหายทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณอยู่ตลอด ทำให้มะละกอคุณภาพดีไม่เพียงพอกับความต้องการในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนามะละกอบริโภคผลสดจังหวัดมหาสารคามและกลุ่มอีสานตอนกลาง ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้พัฒนาพันธุ์มะละกอที่มีความทนทานต่อไวรัสจุดวงแหวน เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นให้เกษตรกร ขณะเดียวกันยังเป็นมะละกอที่มีคุณภาพ เนื้อหนาและให้ผลผลิตต่อต้นสูง โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ศรีราชภัฏ” เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรได้นำไปปลูก
อาจารย์วิวัฒน์ ไชยบุญ หนึ่งในทีมวิจัยให้ข้อมูลว่า ศรีราชภัฏเป็นมะละกอที่พัฒนามาเพื่อบริโภคผลดิบ นำมาทำเป็นส้มตำเป็นหลัก ซึ่งเนื้อมีลักษณะขาวขุ่น หนา กรอบ ลูกรียาว ร่องไม่ลึกทำให้ปอกและสับได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามผลสุกยังมีเนื้อเป็นสีเหลืองสวย ไม่เละและแข็งกระด้าง ทั้งยังมีความหวานถึง 11-12 บริกซ์ กล่าวคือ เป็นมะละกอที่บริโภคผลสุกได้เช่นกัน
“มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างมะละกอพันธุ์ครั่งแดงและพันธุ์ครั่งเหลือ ซึ่งเป็นมะละกอสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ข้อเด่นของทั้งสองพันธุ์คือ มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน โดยพันธุ์ครั่งแดงคือให้เนื้อที่มีคุณภาพดี ผลเรียวยาว ทว่าผลมีลักษณะเป็นร่องลึก ทำให้ปอกยาก จึงนำพันธุ์ครั่งเหลืองที่ไม่มีร่องและให้ผลผลิตที่ดีมาผสม จากนั้นก็คัดเลือกลักษณะตามที่ต้องการ จนได้มะละกอผลรียาว 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ที่แตกต่างจากมะละกอทั่วไป พร้อมทั้งมีเนื้อหนา มีสีขาวขุนและกรอบเหมาะที่บริโภคผลดิบ”
ด้านของผลผลิต ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว ประมาณ 3.5 เดือน ทำให้ประมาณ 4 เดือนก็สามารถเก็บผลดิบไปทำเป็นส้มตำได้แล้ว ซึ่งตลอดอายุการเก็บผลผลิตประมาณ 18 เดือน ให้ผลผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 500-1,000 กิโลกรัม/ต้น และถึงแม้แต่มีการระบาดของโรคไวรัสจุดวงแหวน ก็ไม่ทำให้ผลผลิตเสียหายหรือลดจำนวนลง ยังคงให้ผลผลิตและเก็บจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
การขายพันธุ์
“เทคนิคการเพาะเมล็ดให้มีอัตราการงอกที่ดี ถ้าหากเป็นเมล็ดสดที่ได้มาจากมะละกอสุก สามารถบีบเมือกที่หุ้มออกแล้วนำมาเพาะได้ทันที เมล็ดสดงอกง่ายกว่าไม่เกิน 7 วันก็เห็นยอดอ่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นเมล็ดที่ผ่านการตากแห้งมา จะงอกยากกว่า ต้องนำมาบ่มเพื่อกระตุ้นการงอก ทำได้โดยนำเมล็ดมาแช่น้ำประมาณ 15-20 นาที จากนั้นห่อด้วยผ้าแล้วนำไปกลบไว้ใต้ดินหรือทรายประมาณ 5 วัน เมล็ดก็เริ่มปริ ถึงค่อยนำเมล็ดมาเพาะในถุงพลาสติก”
สำหรับการเตรียมหลุมปลูกและการปลูก
หลังจากไถพรวนและยกร่องแล้ว ให้ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะปลูกประมาณ 3×3 เมตร หรือ 2.5×2.5 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 2 กำมือผสมกับดินก้นหลุม (แต่ทั้งนี้หากดินมีอินทรียวัตถุในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรองก้นหลุมก็ได้) นำต้นกล้าที่เตรียมไว้มาลงปลูก กลบดินให้เป็นลักษณะหลังเต่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังที่บริเวณโคนต้น คลุมด้วยฟางเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
การดูแล
หลังปลูก 2 สัปดาห์แรก ควรให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หากเป็นสปริงเกอร์ปีกผีเสื้อ เปิดประมาณ 10-15 นาที หรือพอดินชุ่ม แต่ไม่ถึงกับท่วม จากนั้นให้น้ำเช้า เย็นในลักษณะเดียวกันทุกระยะ ในฤดูฝนควรจัดการการระบายน้ำเพื่อป้องกันความชื้นแฉะมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้
ช่วงเดือนแรกของการปลูก ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ แต่หลังจากนั้น ทุก ๆ เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 และปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ตลอดอายุการเจริญเติบโต ในปริมาณ 0.5 กิโลกรัม/ต้น ช่วงออกดอกและติดผล เพิ่มปุ๋ยสูตร 13-13-21 อีกต้นละประมาณ 0.5 กิโลกรัม ควรมีการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นรบกวน แต่ไม่ควรใช้จอบบริเวณโคนต้น เพราะมะละกอมีรากตื้น อาจทำให้รากที่ใช้หาอาหารได้รับความกระทบกระเทือน ควรกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้เครื่องตัดหญ้า ใช้มีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอ ซึ่งช่วยควบคุมวัชพืชและรักษาความชื้นให้ดินด้วย
“ในช่วง 1-2 เดือนแรกหลักปลูก มักพบอาการของรากเน่าโคนเน่า จึงควรราดโคนต้นด้วยสารเคมีริโดมิลหรือเทอร์ราคลอซูเปอร์เอ็กซ์ ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกัน จะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมาก แม้มะละกอออกดอกหรือติดผลแล้ว ดังนั้นจึงต้องราดโคนต้นด้วยสารเคมี ทุก ๆ 15 วัน หรือการหว่านเชื้อไตรโคเดอร์มาก่อนปลูก และหว่านซ้ำทุก ๆ 4 เดือน ก็ช่วยลดการใช้สารเคมีลงไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว นอกจากนี้ การพ่นสารเคมีทางใบเพื่อป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อรา ต้องทำอย่างระมัดระวังเนื่องจากใบมะละกออาจไหม้ได้ จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น”
การเก็บเกี่ยว
อาจารย์วิวัฒน์ บอกว่าถ้าต้องการนำมะละกอไปทำเป็นส้มตำ หลังจากปลูกประมาณ 4-5 เดือน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ การเก็บควรใช้มีดหรือกรรไกรตัดขั้วผลมะละกอให้ติดต้น แล้วค่อยตัดขั้วผลมะละกอที่ยาวออกภายหลัง ไม่ควรใช้มือบิดที่ผลเพราะจะทำให้ขั้วช้ำ เชื้อราจะเข้าทำลายขั้วที่ติดต้นทำให้เกิดปัญหาเน่าตามมาได้ ในกรณีต้องการบริโภคผลสุก ให้สังเกตผลที่เปลี่ยนจากสีเขียวเข้ม หรือเมื่อปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผล ถึงค่อยเก็บจากต้น
มะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏให้ผลผลิตต่อเนื่องถึง 18 เดือน จากนั้นเกษตรกรต้องรื้อเพื่อปลูกใหม่ เพราะหากมะละกอแก่กว่านี้ มักอ่อนแอ โรคและแมลงเข้าสร้างความเสียหายได้ง่าย ผลผลิตตกต่ำและไม่ได้คุณภาพ จึงไม่คุ้มค่าการดูแล
ซึ่งในระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรจัดการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการให้ปุ๋ยบำรุงเพราะมีผลกับผลผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอายุ 5-6 เดือน เป็นช่วงที่มะละกอให้ผลผลิตสูงสุด ดังนั้นควรใส่ปุ๋ยบำรุงให้เพียงพอ
ที่มา Youtube Channel : Kasetworld โลกแห่งการเกษตร
ดูคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=guuiiApG2W0