(คลิป) อยากให้ฟัง และแชร์ต่อ ‘การล่าของฝูงหมาป่า’ CPTPP คือเครื่องมือในการล่าอาณานิคมยุคใหม่

2.34K Views

(คลิป) อยากให้ฟัง และแชร์ต่อ ‘การล่าของฝูงหมาป่า’ CPTPP คือเครื่องมือในการล่าอาณานิคมยุคใหม่

CPTPP กลายเป็นคำถามสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสังคม หลังจากที่หลายภาคส่วนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมอนุมัติลงนามใน ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในชื่อ CPTPP

 

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ ส่งผลดีต่อกลุ่มทุนยิ่งได้กำไร อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ยิ่งกลายเป็นความกังวลมากขึ้นไปอีกก็คือ รายละเอียดใน รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า หากรัฐบาลลงนามในสนธิสัญญาใดๆ กับต่างประเทศ ที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน อย่างกว้างขวาง ให้รัฐสภาพิจารณาภายใน 60 วัน แต่ถ้าพิจารณาไม่ทัน ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่บังคับให้รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนทราบอีกด้วย เพียงแต่ให้มีการแสดงความเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นเท่านั้น

ชนวนเหตุของเรื่องนี้อยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งที่ข้อตกลง CPTPP เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า จากข้อตกลงนี้ ไทยจะได้มากกว่าเสีย ก่อนที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวด้วยในช่วงเดือนเมษายน

ก่อนที่ รมว.พาณิชย์จะถอนออกจากวาระ ครม.แล้วในช่วงเย็นของวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้เหตุผลว่า ยังมีข้อกังวลบางประเด็นของ CPTPP อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าใช้แล้วที่นำมาปรับปรุงสภาพเป็นของใหม่และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสมกับเวลา จึงเห็นขอถอนเรื่องออกไป

CPTPP คืออะไร

SCB Economic Intelligence Center ให้รายละเอียดไว้ว่า CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ข้อแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ TPP นั้นอยู่ตรงที่ขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น มีรายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15%

 

ขณะที่รายละเอียดในกฎหมายบางข้อถูกระงับไป อาทิ ข้อบัญญัติ (provision) 22 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ เป็นต้น

คลิป : โจน จันใด ชีวิตง่ายๆ
ติดตาม : https://www.youtube.com/watch?v=pldenQyK3vo

Show More
Top