วิธีการปลูกกุยช่าย ‘กุยช่ายเขียว, กุยช่ายขาว, กุยช่ายใบ’ (แบบละเอียด)

วิธีการปลูกกุยช่าย ‘กุยช่ายเขียว, กุยช่ายขาว, กุยช่ายใบ’ (แบบละเอียด)

กุยช่าย (จีน: 韭菜; ชื่อวิทยาศาสตร์: Allium tuberosum Rottl. ex Spreng) อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae วงศ์ย่อย Allioideae เป็นไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดินเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมโดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแบน ขรุขระ

กระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในไต้หวันมีปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่วไป และพันธุ์ใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม

ขั้นตอน การปลูกกุยช่าย

สายพันธุ์
– กุยช่ายใบ เช่น Broad leaf และ Ping
– กุยช่ายดอก เช่น Tai Jiu


การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์กุยช่าย มี 2 วิธี คือ

1. การเพาะเมล็ด
ถือเป็นวิธีที่นิยม และใช้ในการผลิตกุยช่ายเขียว และกุยช่ายดอก และเพื่อเตรียมต้นกล้าสำหรับผลิตกุยช่ายขาว (ในอัตราการปลูก 1 กิโลกรัม 4 ไร่ สำหรับการปลูกเพื่อการค้า)

วิธีการเพาะเมล็ด
– การเพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า โดยก่อนเพาะควรแช่เมล็ดในน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท(13 – 0 – 50) เข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำออกมาใส่ในผ้าเปียกเก็บในตู้เย็นเป็นเวลา 3 ถึง 5 วัน รักษาความชื้นในวัสดุเพาะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการงอกของเมล็ด แล้วนำออกมาผึ่งให้ผิวแห้ง นำดินสำหรับเพาะกล้าในลงหลุมถาดเพาะ แล้วนำเมล็ดกุยช่ายหยอดลงในหลุม 3 ถึง 5 เมล็ด ต่อหลุม จากนั้นกลบด้วยดินที่ใช้เพาะกล้าบางๆ รดน้ำพอชุ่ม คลุมด้วยฟางข้าวแห้ง นำถาดเพาะกล้าไปวางไว้ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทที่ดี รดน้ำทุกวันในตอนเช้า เมล็ดจะงอกภายใน 7 ถึง 14 วัน ในระยะนี้ควรรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ จนอายุกล้าประมาณ 50 ถึง 60 วัน จึงสามารถนำไปปลูกได้


-การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ เริ่มจากการเตรียมแปลงเพาะเหมือนกับการเตรียมแปลงเพาะพืชทั่วไป หว่านเมล็ดลงแปลงบางๆ โรยฟางข้าวทับรดน้ำให้ชุ่ม จนกล้าอายุได้ 50 ถึง 60 วัน จึงนำกล้าไปปลูกลงแปลงปลูกได้

2. การแยกเหง้าหรือแยกกอปลูก
ใช้ในการปลูกทั้งกุยช่ายเขียว และกุยช่ายขาว ด้วยการสลับผลิตกุยช่ายแต่ละชนิดในแปลงเดียวกัน วิธีนี้จำเป็นต่อการปลูกกุยช่ายขาว เพราะการปลูกจากเหง้าให้เป็นกอๆ จะสามารถใช้วัสดุทึบแสงคลุมกอได้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกกุยช่ายขาว

พื้นที่เพาะปลูก
– ต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่มีช่วงแสงสั้น อุณหภูมิต่ำ หากปลูกกุยช่ายดอก สามารถเพิ่มช่วงแสงด้วยการเปิดไฟในเวลากลางคืนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญของดอก ในบางสายพันธุ์ต้องการอุณหภูมิต่ำ สำหรับการเจริญเติบโตของดอก


อุณหภูมิ
– อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกุยช่าย คือ 20 องศาเซลเซียส

ดิน
– กุยช่ายชอบดินที่ร่วนปนทราย มีหน้าดินหนา อินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี
– ค่า pH ของดินอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 6.8

การปลูกกุยช่าย

การปลูกกุยช่ายเขียว และ กุยช่ายขาว

การเตรียมดิน
– ไถพลิกดิน ตากแดดประมาณ 15 วัน
– ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร
– โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน
– กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะหญ้าแห้วหมู
– ย่อยหรือพรวนดิน และเตรียมแปลง

การเตรียมแปลง

พื้นที่ที่มีระบบน้ำขังตลอด
– ยกร่องสูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 3 ถึง 5 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร
– พรวนแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน


พื้นที่ดอนหรือไม่มีน้ำท่วมขัง
– ยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 50 ถึง 70 เซนติเมตร
– พรวนแปลงเพื่อตากแดดอีกครั้งประมาณ 5 ถึง 10 วัน

การปลูก

กุยช่ายเขียวจากการเพาะเมล็ด
– เมื่อต้นกล้ามีอายุครบกำหนด ลำต้นแข็งแรง ให้รดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม
– นำกล้าลงปลูกใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หลุมละ 3 ถึง 4 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม กุยช่ายจะอยู่ได้ 3 ถึง 4 ปี แล้วแยกกอปลูกแปลงใหม่
– คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหรือแกลบ
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7 ถึง 8 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้

กุยช่ายเขียวจากการแยกกอปลูก
– นำกอที่แยกจากต้นแม่พันธุ์ แล้วมีการตัดใบ ตัดราก และจุ่มยากันเชื้อราแล้วมาปลูกลงในแปลงตามระยะและวิธีการเดียวกันกับกุยช่ายเขียวแบบเพาะเมล็ด
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ประมาณ 4 เดือน หลังปลูกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้

กุยช่ายขาว

วัสดุอุปกรณ์
– กระถางพลาสติกหรือกระถางดินเผา ขนาด 11x23x30 เซนติเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางก้นกระถาง x เส้นผ่าศูนย์กลางปากกระถาง x ความสูง)
– ตาข่ายพรางแสง (สแลน)
– ไม้ไผ่

วิธีการปลูก
– ใช้กล้าพันธุ์ที่เตรียมได้จากเหง้าหรือกอกุยช่ายเขียว ที่มีการตัดใบหรือตัดดอกจำหน่ายแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปี หรืออาจใช้ต้นกล้าอายุตั้งแต่ 3 ถึง 4 เดือน

– เมื่อแยกกอจากต้นแม่พันธุ์แล้ว ปฏิบัติตามวิธีขยายพันธุ์ข้างต้น

– นำมาปลูก 4 ถึง 6 กอ ต่อหลุม ในระยะห่างระหว่างต้น และระยะห่างระหว่างแถว 30×30 เซนติเมตร เว้นขอบแปลงด้านละ 15 เซนติเมตร แปลงขนาด 1.3 ถึง 1.5 เมตร จะได้ประมาณ 4 ถึง 5 แถว

– ใช้กระถางครอบแต่ละกอต้นกุยช่าย โดนออกแรงกดให้กระถางจมลงดินเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้กระถางล้ม

– ขุดหลุมฝังเสาไม้ พร้อมขึงตาข่ายพรางแสง

– รดน้ำวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า หรือ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ในระยะ 10 วัน จะสามารถเก็บผลผลิตได้

กุยช่ายดอก
– มีขั้นตอนการปลูก การให้น้ำ และให้ปุ๋ยเช่นเดียวกันกับกุยช่ายเขียว แต่จะไม่มีการตัดใบจนถึงระยะแก่ กุยช่ายจะแทงช่อดอกออกมา จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การดูแลกุยช่าย หลังการปลูก

การให้น้ำ
– รดน้ำกุยช่ายวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ในตอนเช้า กุยช่ายชอบน้ำชุ่มแต่ไม่แฉะ ไม่ขัง


การให้ปุ๋ย
– การให้ปุ๋ยครั้งแรก หลังย้ายปลูก 7 วัน ควรใส่ ปุ๋ย 21–0 – 0 (แอมโมเนีย ซัลเฟต ) ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 0 – 26 ( แคลเซียมไนเตรท ) ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยเจาะหลุมห่างจากต้น 10 เซนติเมตรด้านใดด้านหนึ่ง และใส่อีกด้านหนึ่งในครั้งต่อไปสลับด้านกัน

– หลังการให้ปุ๋ยครั้งแรก ให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 1 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 13 – 13 – 21 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ และ 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรด อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก

– หลังการเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 21 – 0 – 0 ในดินที่เป็นด่าง อัตรา 10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือ 13 – 0 – 26 ในดินที่เป็นกรดอัตรา 15กิโลกรัม ต่อไร่ ตามวิธีเดียวกันกับการให้ปุ๋ยในครั้งแรก
 


– ทุกสัปดาห์ ควรฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด หรือปุ๋ยน้ำที่มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ในรูปสารละลายทางใบ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

กุยช่ายเขียว
– กุยช่ายเขียวจากการเพาะเมล็ดสามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 7 ถึง 8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 45 วัน

– กุยช่ายเขียวจากการแยกกอปลูกสามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน และการตัดใบครั้งต่อไป สามารถทำได้ในระยะประมาณ 45 วัน

กุยช่ายขาว (มักทำสลับกับการตัดกุยช่ายเขียว)
– สามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังคลุมด้วยกระถาง ประมาณ 10 ถึง 15 วัน

– หลังจากตัดใบกุยช่ายขาวแล้ว ไม่คลุมกระถาง ซึ่งสามารถตัดกุยช่ายเขียวได้อีก ประมาณ 45 วัน

กุยช่ายดอก
– กุยช่ายดอกจากการเพาะเมล็ดสามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง

– กุยช่ายดอกจากการแยกกอปลูกสามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง

วิธีการเก็บเกี่ยว
– ใช้มีดคมๆ ตัดโคนชิดดิน นำไปล้างน้ำ
– ตัดแต่งใบ ลอกใบที่ถูกทำลายหรือใบล่างที่มีสีเหลืองออก
– คัดขนาดแล้วมัดเป็นกำๆ มัดละ 1 กิโลกรัมด้วยยางวง รอการขนส่ง

โรคและแมลงศัตรูกุยช่าย
กุยช่ายเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากกลิ่นที่ฉุนช่วยเป็นเกราะป้องกันด้วยตัวเอง มีโรคและแมลงไม่กี่ชนิดที่สามารถเข้าทำลายกุยช่ายได้ ดังนี้


โรคกุยช่าย

โรคต้นและดอกเน่า และโรคต้นเหลืองแคระแกรน

การป้องกันและกำจัด
– รักษาแปลงปลูกให้สะอาด

– ถากดินตรงจุดที่เป็นโรคทิ้งแล้วโรยด้วยปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปรับปรุงดินให้มีสภาพดีขึ้น

– เก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนำไปเผาทำลาย

– ควรมีการปลูกพืชสลับ โดยใช้พืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาปลูกหมุนเวียนกับกุยช่ายเพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อรา เมื่อกลับมาปลูกกุยช่ายใหม่จะได้ผลดียิ่งขึ้น

โรคราสนิม
พบระบาดทำความเสียหายอย่างหนักในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคม จนถึงเดือนกุมภาพันธุ์

การป้องกันและกำจัด
– เก็บเศษใบและต้นพืชที่เป็นโรคไปเผาและทำลาย เพื่อกำจัดแหล่งแพร่เชื้อ

– ปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพของดินให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม พืชจะเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานต่อโรค เป็นการช่วยป้องกันโรคทางอ้อม


– ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาสลับกับกุยช่าย เพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อราทำให้เชื้อราลดจำนวนลงเรื่อยๆ

แมลงศัตรูกุยช่าย

แมลงที่พบคือ แมลงปากกัด และหนอนชอนใบ

การป้องกันและกำจัด
– โดยการพ่นด้วยอะมาเม็กติน ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลากกำกับ
– โดยการพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้

การทำน้ำส้มควันไม้ (สูตรลุงอ้วน)

วัสดุอุปกรณ์
– ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ใบ
– ปีบ 1 ใบ
– ท่อใยหิน ขนาด 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร 1 ท่อ
– ข้องอขนาด 4 นิ้ว 2 อัน
– เหล็กเส้นขนาด 4 หุน ยาว 30 เซนติเมตร 5 ท่อน
– ไม้ไผ่ขนาด 4 นิ้ว ยาว 4 เมตร 1 ท่อน

วิธีทำ
– เจาะหลังถังน้ำมัน ขนาด 25 x 50 เซนติเมตร (กว้างxยาว) เก็บไว้ใช้เป็นฝาปิด

– ตัดปีบออกหนึ่งแถบ ตัดฝาออกหนึ่งแถบ เจาะด้านก้นปีบเหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อป้องกันเปลวไฟพุ่งออกด้านหน้า


– เจาะรูวงกลมด้านหลังเป็นวงกลมสำหรับใส่ข้องอและท่อระบายอากาศ

– นำเหล็กเส้น 4 หุน ยาว 4 เมตรมาทำตะแกรงรองไม้ฟืนเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

– ใช้ท่อไม้ไผ่ขนาด 4 นิ้ว ยาว 4 เมตร ทะลุปล้องไม้ไผ่ตลอดลำท่อน เพื่อระบายอากาศและเป็นที่ระบายของควันไฟ

– เจาะรูใต้ท่อไม้ไผ่ห่างจากข้องอ 20 เซนติเมตร เพื่อรองน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำพันที่ท่อไม้ไผ่ เพื่อให้ไอความร้อนจากควันไฟไปกระทบกับผ้าที่ชุบน้ำ ทำให้เกิดน้ำส้มควันไม้ไหลลงรูที่เจาะเอาไว้

– นำถังมารองใต้รูที่เจาะไว้ จะได้น้ำส้มควันไม้

วิธีใช้น้ำส้มควันไม้ไล่แมลง
ใช้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 7 ถึง 10 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดเพื่อไล่แมลง

การใช้ประโยชน์
กุยช่ายขาว เป็นพืชชนิดเดียวกับกุยช่ายเขียว แต่ตอนปลูกจะนำฝาหรือเข่งมาครอบไว้ไม่ให้ถูกแสงแดด มีราคาแพงกว่ากุยช่ายเขียว นิยมนำไปผัดเต้าหู้ ผัดหมูกรอบ ผัดมี่สั้ว ผัดหมี่ฮ่องกง

กุยช่ายเขียว ใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ดอก ผักกับตับหมู ใบรับประทานสดกับลาบหรือผัดไทยก็ได้ และนอกจากนั้นยังใช้ใบทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วย และมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ใบ มีฟอสฟอรัสสูง เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก แก้ลมพิษ ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด บำรุงไต บำรุงกำหนัด จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ตำผสมเหล้าเล็กน้อยรับประทานจะช่วยกระจายเลือดไม่ให้คั่ง แก้ช้ำในได้


น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายที่ความเข้มข้น 80 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ ถ้านำน้ำมันนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลา 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้ปลานิลลดอัตราการตายจากการติดเชื้อ F. columnaris

แหล่งข้อมูล : www.puechkaset.com, www.paiboonrayong.com, http://nfemaemoh.blogspot.com

Top